สิ่งที่ต้องรู้ก่อนซื้อจอยเกม
Layout ของจอย หลัก ๆ มีทั้งหมด 3 แบบ
- แบบ PlayStation ที่ปุ่มอนาล็อกทั้งสองอันจะวางอยู่ใกล้กัน
2. แบบ Xbox ที่ปุ่มอนาล็อกจะวางอยู่ห่างกัน
3. แบบ Nintendo Switch ที่ปุ่ม A, B, X,Y จะวางสลับตำแหน่งกับ Xbox
Input API ของจอยเกมเป็นแบบไหน หลัก ๆ แล้วมี 2 แบบ
- D-Input (Direct Input) สำหรับใช้กับเกมเก่า ๆ
DInput หรือ DirectInput เป็น API (Application Programming Interface ชุดคำสั่งที่ช่วยให้ซอฟต์แวร์สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้) สุดเก่าแก่ของไมโครซอฟต์ มันมีหน้าที่ในเก็บข้อมูลที่ถูก Input มาจากเมาส์, คีย์บอร์ด และจอยเกม โดยเกมในยุคก่อนปี ปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) จะออกแบบการควบคุมโดยใช้ DInput เป็นหลัก
DInput เป็นส่วนหนึ่งใน Library ของ DirectX ปัจจุบันนี้ มันไม่ได้รับการสนับสนุนจาก Microsoft สักเท่าไหร่ เพราะตั้งแต่ DirectX 8 เป็นต้นมา ทั้งเมาส์ และคีย์บอร์ด ได้เปลี่ยนไปใช้ API ใหม่ที่เรียกว่า Message loop แทน ส่วนจอยเกมก็ได้มีการพัฒนา XInput ขึ้นมาเพื่อใช้แทน โดยมันออกแบบมาให้การใช้งานกับจอยเกม Xbox 360
- X-Input (Xbox Input) มาตรฐานที่เกมใหม่ ๆ เลือกใช้
ธันวาคม ปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) Microsoft ได้เปิดตัวเครื่องเกมคอนโซลของตนเองเป็นครั้งแรกในชื่อ Xbox 360 ซึ่งมันก็มาพร้อมกับ XInput API สำหรับใช้ควบคุมจอย รองรับ DirectX 9 (หรือใหม่กว่า) สามารถนำมาต่อเล่นกับ PC ได้ทันที ตั้งแต่ระบบปฏิบัติการ Windows XP SP1 เป็นต้นมา
ทาง Microsoft ได้ระบุว่า XInput ถูกพัฒนามาให้เขียนโปรแกรมรองรับการทำงานได้ง่ายกว่า Dinput ซึ่งเกม PC ในยุคหลังจากนั้น ก็เริ่มมีการพัฒนาให้รองรับ XInput ตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบัน
ความแตกต่างระหว่างจอยเกมแบบ DInput และ XInput
ค่าย Microsoft เปิดตัว XInput มีการบังคับให้การพัฒนาเกมรองรับ XInput เพื่อให้ตัวเกมสามารถเล่นผ่านจอย Xbox ได้อย่างราบรื่น ผลดีที่เกิดขึ้น คือ ทุกอย่างง่ายขึ้นมาก แค่เสียบจอย เปิดเกม Windows ก็ตรวจจับจอยเกมได้ทันที และในอีกความหมายหนึ่ง คือ เกมที่พัฒนาโดยใช้ XInput จะออกแบบมาเพื่อเล่นกับจอย Xbox ด้วย
ในความเป็นจริงต่อให้ซื้อจอยที่เป็นแบบ DInput มา ก็สามารถใช้ซอฟต์แวร์ช่วยจำลองการทำงาน แปลงจอย DInput ให้เป็น XInput ได้ เช่น ซอฟต์แวร์อย่าง MotioninJoy, x360ce หรือ XOutput
เกมส่วนมากบน Steam รองรับคอนโทรลเลอร์ Xbox เป็นพื้นฐาน
- ถ้าเกมไหนรองรับจะมีข้อความขึ้นว่า Partial Controller Support
แบบมีสาย กับแบบไร้สาย ตามความสะดวกในการใช้งาน
- แบบมีสายมีข้อดีคือ ได้ความเสถียรไม่มี ดีเลย์ แต่ก็แลกมากับสายยาวเกะกะ
- แบบไร้สายมีข้อดีคือ ใช้งานสะดวกคล่องตัว แต่ก็แลกมากับสัญญาณอาจจะดีเลย์บ้าง และต้องชาร์จแบตเปลี่ยนถ่าน
จอยแบบไร้สาย มีแบบ แบตในตัว หรือใช้ถ่าน
- มีแบตในตัว ข้อดีคือเสียบชาร์จได้เลย ไม่ต้องหาถ่านให้วุ่นวาย ข้อเสียคือเวลาแบตเสื่อมเปลี่ยนยากกว่า และถ้าเล่นอยู่แล้วแบตหมดต้องรอชาร์จ
- ใส่ถ่าน ข้อดีคือไม่ต้องรอชาร์จ เปลี่ยนถ่านแล้วเล่นได้ต่อเลย หมดปัญหาแบตเสื่อมเพราะเปลี่ยนใหม่ได้ตลอด ข้อเสียคือถ้าถ่านหมดแล้วไม่มีถ่านสำรองจะใช้งานไม่ได้ และถ้าใช้ถ่านธรรมดา จะสิ้นเปลืองเป็นขยะของโลก
แบบไร้สาย
- Wireless 2.4 เป็นคลื่นที่ออกแบบมาให้เฉพาะใช้กับอุปกรณ์ตัวนั้นเท่านั้น ต้องใช้คู่กับ USB Reciver ข้อดีคือสัญญาณเสถียร โดนรบกวนได้ยากกว่า มีค่า Polling Rate ที่สูงกว่า ข้อเสียคือต้องใช้กับตัวรับสัญญาณที่มีมาให้เท่านั้น ถ้าทำหายจะใช้ไม่ได้ และเปลืองช่อง USB สำหรับคนที่ใช้โน้ตบุ๊ก
- Bluetooth คลื่นความถี่สามัญที่อุปกรณ์ไร้สายใช้งานกันเยอะ ข้อดีคือ ใช้ง่าย ใคร ๆ ก็มี เช่น มือถือ โน้ตบุ๊ก ส่วนใหญ่มีหมดอยู่แล้ว ไม่ต้องใช้ตัวรับสัญญาณให้วุ่นวาย ข้อเสียคือ ด้วยความที่ปัจจุบันอุปกรณ์ที่ใช้คลื่นนี้มีมากขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำให้อาจโดนรบกวนได้ง่ายกว่า และอัตราการส่งข้อมูลที่น้อยกว่าทำให้ค่า Polling Rate สูงสุดน้อยกว่า